ผลสอบคดีบอส อยู่วิทยา ที่ถือเป็นอีกประเด็นก่อนหน้านี้ที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เป็นประเด็นในการโจมตีรัฐบาล ที่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลแก้เกมได้เร็ว โดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดที่นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานสอบ ล่าสุดผลสอบออกมาแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นับว่าได้สร้างความกระจ่างให้กับประชาชนได้ระดับหนึ่งและเปิดทางให้รื้อกระบวนการคดีนี้ขึ้นใหม่?
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาคำตอบให้กับสังคม แต่ยังมีโจทย์ค้างและปัญหาใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในสองวันนี้ให้นายกรัฐมนตรีต้องปวดหัว แต่หนีไม่พ้นที่จะต้องแก้และหาคำตอบ ก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นปลุกกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังสงบตอนนี้จากเกมเรื่องเรือดำน้ำที่เปลี่ยนไปแล้ว
ขณะที่คนภายนอกรัฐบาลและนอกกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ ทั้งสองฝ่ายโดยกำลังประเมินว่า กลุ่มผู้ชุมนุมและกลุ่มต่อต้านรัฐจะเดินเกมอย่างไรต่อจากนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้อง ให้เกิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ให้ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไป ก็ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไปเสียหมด แม้จะไม่ตรงตามที่ขอแบบ 100% แต่ก็เห็นได้ว่ารัฐบาลรับฟังอย่างเหนือการประเมินอีกเช่นกัน
แล้วคราวนี้น่าจับตามองว่ากลุ่มผู้ชุมนุม หรือหากจะมีผู้อยู่เบื้องหลังผู้ชุมนุม หรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม เขาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป? เพราะดูเหมือนช่วงหลังมานี้ ถ้ามีข้อเรียกร้องและรัฐบาลจะสนองทางใดทางหนึ่งไวขึ้นมากเทียบจากตอนต้นปี
หากลองมานั่งไล่เหตุการณ์ย้อนหลังของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เริ่มมีการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่เรียกร้องเรื่องต่อต้านการยุบพรรคการเมือง ไปจนถึงเรื่องอื่นๆ ของรัฐบาล ตั้งแต่กลุ่มชุมนุมเล็กๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และขยายวงไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องมีเหตุการณ์ให้ยุติการชุมนุมช่วงนั้นไปเสียก่อนเนื่องจากมีการระบาดเข้ามาของเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่พอเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเริ่มควบคุมได้และกำลังจะกลับมาสู่สถานการณ์ปกติ กลุ่มผู้ชุมนุมก็เริ่มออกมาต่อต้านรัฐบาลอีกครั้ง โดยช่วงต้นประเด็นที่ออกมาโจมตี เริ่มที่ประเด็นความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมหรือกักตัวหรือมาตรฐานที่แตกต่างในการกักตัวคัดกรองคนต่างชาติที่เป็นวีไอพี เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอก 2 ซึ่งถ้าเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ขึ้นมา ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรับมือได้ และอาจจะทำให้เกิดการพังครืนลงมาของเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ก็ไม่สามารถปลุกกระแสความไม่พอใจของประชาชนได้มากพอสมควร แค่ในโซเชียลเป็นหลัก
ต่อมาแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมก็หยิบประเด็นเรื่อง กระบวนการยุติธรรม ออกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยมาจุดประเด็นติดก็ตอนกรณี คดีของนายบอส อยู่วิทยา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ ในโซเชียลนำไปสู่ประเด็นในเวทีชุมนุมต่างๆ ในช่วงนั้น ซึ่งนอกจากจะต้องการเขย่ากระบวนการยุติธรรมของไทยแล้วยังสั่นคลอนรัฐบาลด้วยโดยกลุ่มแกนนำ และในโซเชียลก็พยายามออกมาพูดถึงในประเด็นความเป็นอภิสิทธิ์ชนและไม่เสมอภาคของคน ซึ่งในประเด็นนี้ก็สามารถปลุกกระแสความไม่พอใจของผู้คนต่ออำนาจรัฐได้มากทีเดียว แต่ก็ยังไม่ทันประเด็นจะบานปลายรัฐบาลก็ประกาศตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้ โดยให้นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมได้มาถึงจุดที่หลายคนเริ่มกังวล เมื่อครั้งการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อ ธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยประเด็นที่แกนนำหยิบขึ้นมาปราศรัยในครั้งนี้เป็นประเด็นที่เกินที่ใครจะคาดคิดนั่นคือการพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ที่เป็นสถาบันหลักและเป็นที่เคารพรักของคนทั้งประเทศ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมหยิบประเด็นนี้ออกมาเล่นก็ทำให้กลุ่มคนบางส่วนเริ่มถอยออกไป และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฝ่ายการเมืองที่เคยออกมาสนับสนุน ให้ต้องมีท่าทีไปอีกแบบ
แต่ก็เหมือนดวงชะตาจะพาไป เป็นช่วงพิจารณางบประมาณพอดีและก็มีเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่เข้ามาเป็นประเด็นให้กลุ่มผู้ชุมนุมปลุกกระแสได้อีกครั้งและครั้งนี้ประชาชนออกมาแสดงความเห็นกันมากและหลากหลายกลุ่ม เหตุเพราะกระทบต่อความรู้สึกและสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนี้ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยก็บอกว่าเรือดำน้ำเป็นสิ่งที่ควรมีเพราะเอาไว้ปกป้องทรัพยากรทางทะเลของไทยที่มีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาท และนับวันจะยิ่งทวีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็ได้ให้เหตุผลว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของโลกที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1930 รัฐบาลควรนำเงินทุกบาททุกสตางค์มาบริหารและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดแต่ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจยอมชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ออกไปก่อน
ในขณะที่มีอีกประเด็นที่ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องและได้รับการตอบรับจากประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆโดดลงมาเล่นด้วย คือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเร็วๆ นี้ ก็ได้มีการบรรจุหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่วาระการประชุมและจะมีการอภิปรายในวันที่10 กันยายนนี้ ซึ่งก็ทำเอาหลายฝ่ายงงไปไม่น้อยเพราะไม่คิดว่ารัฐบาลจะตอบสนองเรื่องนี้ได้ไวกว่าที่การชุมนุมกำลังก่อตัวเรื่องนี้ให้ต้องมาว่ากันในสภาแทน ซึ่งข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองก็ยังแตกต่างกันแม้ในฝ่ายค้านด้วยกันเองก็ตาม จึงเป็นที่น่าจับตาว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังและแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมจะเอายังไงต่อหลังจากนี้ ?
แต่ดูเหมือนตอนนี้ยังมีเรื่องเข้ามาประดังที่นายกฯอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่า รัฐบาลจะมีทางออกให้กับปัญหาต่างๆ อย่าง เรื่อง คดีบอส เรือดำน้ำ แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีเรื่องใหม่ๆที่เข้ามารายวันและกำลังก่อตัวปัญหา อย่างเรื่อง เหมืองทองอัครา เรื่องพิษโควิดที่กระทบการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ตอนนี้เริ่มมีปัญหาแล้ว จากการที่ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ จนถึงเรื่องการเมืองภายในรัฐบาลเองจากกรณีรัฐมนตรีคลังลาออกทั้งที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่กี่วัน งานนี้เหมือนเป็นตัวช่วยเติมประเด็นให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมให้มีประเด็นมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า รัฐบาลจะหาทางแก้กับปัญหาใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร หรือในสภาจะได้บทสรุปอย่างไร ในวันที่9 และ 10 กันยายนนี้ ก็ตาม แกนนำได้ประกาศแล้วว่าอย่างไรก็จะยกระดับและจะมีการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 19กันยายนที่จะถึงนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสภาวันที่ 9 และ 10 กันยายนนี้จึงจะเป็นบทพิสูจน์ของสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะแก้ปัญหาการเมืองภายในและปัญหาของประชาชนได้หรือไม่ ? เพราะตอนนี้นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมเดิมจะนัดชุมนุมใหญ่แล้ว ยังมีกลุ่มคนที่เห็นต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่ตอนนี้มีการประกาศรวมตัวกันแล้ว
การออกมาตั้งกลุ่มแสดงพลัง ภายใต้ชื่อกลุ่มไทยภักดี โดยมีแกนนำคือ หมอวรงค์ ที่ประกาศว่าได้รวบรวมประชาชนผู้ภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ออกมาแสดงจุดยืนของตนเอง และหลายฝ่ายหวั่นว่าจะเกิดความขัดแย้งของประชาชนทั้งสองกลุ่มนี้ หากสถานการณ์บานปลายในวันที่ 19 กันยายน
เมื่อข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมาเผชิญกัน จึงเป็นเหตุให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือนดั่งเช่นในอดีตได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ลุกขึ้นมาก็ด้วยความหวังดีเพื่อปกป้องบ้านเมืองและอนาคตของตัวเอง แต่แค่อยู่บนพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นโจทย์ที่นายกฯจะต้องหาคำตอบให้ได้ ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤติโควิดเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาและต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะเอาชนะซึ่งกันละกัน ซึ่งไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ก็ไม่อาจจะชนะ มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ และที่แพ้ที่สุดก็คือ ประเทศชาติ
“สองเสือสู้กันต้องเจ็บสักข้าง”
ขงเบ้ง สามก๊ก ละครโทรทัศน์ปี 1994
"ต่อ" - Google News
September 03, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3lTkpWO
คอลัมน์การเมือง - จะเดินอย่างไรต่อ? - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"ต่อ" - Google News
https://ift.tt/2TWExL0
No comments:
Post a Comment